ยกระดับสุขภาพชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช  ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T): มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ลงพื้นที่จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมการตรวจและบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

          พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการนำองค์ความรู้ด้าน Health Care ไปช่วยบริการชุมชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วยแผนงานหลัก ได้แก่ การตรวจการเกิดพิษจากการใช้ยาปราบศัตรูพืชในเกษตรกร การตรวจการติดโรคเมลิออยด์ในสุกรและเกษตรกรฟาร์มสุกร และการตรวจสมรรถภาพร่างกายและส่งเสริมความรู้ทางการยศาสตร์ในเกษตรกร (ชาวสวนและชาวประมง) เป็นต้น มุ่งเป้าให้เกษตรกรเป้าหมาย ทั้งชาวสวน ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์ ให้มีอาชีพดีแล้ว ยังต้องมีสุขภาพที่ดี เกิดการเฝ้าระวังสุขภาพและการบริหารจัดการควบคุม หรือความเสี่ยงในการทำงาน นำไปสู่การส่งเสริมป้องกันสุขภาวะกลุ่มแรงงาน ลดการสูญเสียรายได้จากการหยุดพักงาน และสามารถทำงานได้เป็นระยะเวลายาวนานขึ้น สู่เป้าหมายยกระดับตำบลให้ดีขึ้น สร้างระบบสุขภาพประจำตำบลที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายข้อที่  3 “Good Health and Well-being” ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย

          ในการนี้ คณะทำงานโครงการฯ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อตรวจและบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมีเกษตรกรกลุ่มอาชีพที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่ อาทิ กลุ่มชาวสวน ฝรั่ง พริก ผัก ในพื้นที่ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง กลุ่มชาวประมง พื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ในตำบลท่าพยา อำเภอปากพนัง ตำบลหน้าสะตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ สุกร ในตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา คณะทำงานได้ออกแบบโปรแกรมการตรวจและบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพฯ ที่มีความแตกต่างตามบริบทอาชีพของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

1.การตรวจประเมินสุขภาพของเกษตรกร ได้แก่ ความสมบูรณ์ของเลือด เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับไต) ตรวจสารพิษตกค้างในเลือด รวมทั้งการตรวจทดสอบสมรรถภาพร่างกาย (ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและหลัง ตรวจองค์ประกอบสัดส่วนร่างกาย (Body scan) และระบบทางเดินหายใจและสมรรถภาพการทำงานของปอด ด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

2.การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามเพื่อประเมินพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ในเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ข้อมูลการใช้สารเคมีจำกัดศัตรูพืชและประวัติสุขภาพของเกษตรกร การใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่ออาการความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง เป็นต้น

3.ให้คำปรึกษาเบื้องต้นให้เกษตรกรเกิดความรู้และการเข้าใจในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตระหนักและสามารถการป้องกันตัวเองจากอันตรายจากสารเคมี ตลอดจนเกิดความรู้ ความเข้าใจการป้องกันดูแลตัวเองเพื่อลดการบาดเจ็บจากการทำงาน

         ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ กำลังดำเนินการตรวจและวิเคราะห์ผลสุขภาพของเกษตรกรเพี่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคจากการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การวางแผนการเฝ้าระวังสุขภาพและการบริหารจัดการควบคุม หรือความเสี่ยงในการทำงานของเกษตรกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งให้บริการให้คำปรึกษา ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.